หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่นานนัก ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ผู้นิยมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาล โดยสาเหตุหลักมาจากการกล่าวหาว่า รัฐบาลมุ่งเอื้อประโยชน์ให้กับเครือญาติและพวกพ้อง, แผนฟินแลนด์ ที่เป็นแผนอันชั่วร้าย ซึ่งกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และคนใกล้ชิด ได้วางไว้ก่อนจัดตั้งรัฐบาล ที่ประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มิได้ตอบคำถามต่างๆ เหล่านั้นอย่างชัดเจน
โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ได้ตอบโต้ ด้วยการตั้งฉายาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือ นายธีรยุทธ บุญมี ว่าเป็น ขาประจำ และยังชี้ให้เห็นว่า ผู้โจมตีรัฐบาลบางส่วน เป็นกลุ่มทุนเก่า และผู้สูญเสียผลประโยชน์ จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จากการที่กลุ่มทุนใหม่มีอำนาจทางการเมือง
ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2548 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ได้ยื่นฟ้องสนธิในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย แต่หลังจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้นายธนา ดำเนินการถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส พร้อมกันนี้ ศาลก็ได้ยกคำร้องของตำรวจไปทั้งหมด
ค่ำวันที่ 13 มกราคม ประทิน สันติประภพ, กัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. สนธิ และพวก ได้นำประชาชนที่มาร่วมฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่สวนลุมพินี กว่า 3,000 คน เดินเท้ามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้งมีบางส่วนที่บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันเด็กแห่งชาติ จะมีเด็กและเยาวชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น
จากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นจุดที่ทำให้ประชาชนที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ รวมถึงกลุ่มคนที่เห็นว่าว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หลีกเลี่ยงภาษี ร่วมกันแสดงท่าทีขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมประท้วง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ จัดขึ้นนานมาแล้ว จนเมื่อเกิดการขายหุ้นดังกล่าว ตามที่สนธิคาดการณ์ไว้แล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ปฏิเสธตลอดมา ส่งผลให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน โดยกล่าวถึงเหตุผล ในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 20.30 น. คืนวันเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กดดันให้ตนลาออกจากตำแหน่ง
วันที่ 3 มีนาคม พรรคไทยรักไทย จัดการปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัย ในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัย เป็นจำนวนหลายคน จนเต็มท้องสนามหลวง และล้นออกไปถึง ถนนราชดำเนินกลาง ใกล้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
วันที่ 5 มีนาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย แกนนำ ทั้ง 5 ได้นำประชาชนจำนวนหนึ่ง ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล กดดันทุกวิถีทาง เพื่อให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งต้องตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ยืนยันว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้
วันที่ 4 เมษายน เวลา 20.30 น. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ และปรองดองในชาติ แต่ยังจำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะแล้วเสร็จ แต่เมื่อยังคงมีกระแสต่อต้านการที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาราชการ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน
ในระหว่างลาราชการ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เดินทางเยือน และพบปะหารือ เป็นการส่วนตัว กับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และ ฮ่องกง ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 30 เมษายน
(มีต่อ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น