ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การต่อสู้ของทางการเมืองของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ตอนที่2)

ในช่วงแรกที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช.ได้มีมติว่า บัญชีทรัพย์สินที่แจ้งเป็นเท็จ [2] ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติพิพากษา ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ให้ยกคำร้องดังกล่าว ในจำนวนเสียงข้างมากนี้ มี 4 ท่านมีความเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ไม่ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้ข้อบังคับดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังถูกกล่าวหาประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จากตำแหน่งทางการเมือง อาจเอื้อผลประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี
รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสมัยแรก ดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ออกโฆษณาโครงการต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้ไปดำเนินการตามนโยบาย ผ่านสื่อของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มเกษตรกร และประชาชนในชนบททั่วไปอย่างมาก หากแต่มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า เป็นการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีนโยบายทำสงครามปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่าง รุนแรง ระยะเวลา 3 เดือน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการฆ่าตัดตอนผู้กระทำความผิด เพื่อไม่ให้สืบสวนไปถึงผู้บงการรายใหญ่ และยังเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้พิสูจน์ตัวเองในศาล ทั้งยังเห็นว่า มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมจำนวนหนึ่ง ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

นโยบายอื่นๆ ในด้านสังคม ได้แก่ การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของรัฐบาล โดยนำรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่ง ไปเป็นทุนการศึกษา สำหรับเยาวชนที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่ผ่านสอบคัดเลือกในระดับอำเภอ เพื่อส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ตามสาขาที่นักเรียนทุนต้องการ โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนแก่ราชการ ทั้งยังสามารถลดปัญหาจากการค้าหวยเถื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ในส่วนอื่นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ว่านำไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นก็มิได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว และยังมีโครงการ แท็กซี่เอื้อ อาทร โดยคิดค่าเช่ารถในราคาประหยัด เพื่อสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย แต่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการลักลอบเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจเช่าแท๊กซี่ได้อย่างเสรี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ที่ดำเนินธุรกิจให้เช่าแท๊กซี่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผลให้เกิดปริมาณรถแท๊กซี่บนท้องถนนมากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มักใช้อำนาจสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติและบุคคลใกล้ชิด เช่น การสนับสนุนให้ได้รับตำแหน่งสำคัญ อย่างการผลักดันให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้ได้รับตำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในเวลาต่อมา รวมถึง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน รวมถึงการใช้อำนาจต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชินคอร์ป เช่น ลดค่าภาษีสัมปทานโทรคมนาคม ให้กับบริษัทเอไอเอส ลดค่าสัมปทานเช่าคลื่นความถี่ ให้กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 จากผลการเลือกตั้ง เมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ด้วยคะแนนเสียงอันเป็นประวัติศาสตร์กว่า 19 ล้านเสียง โดยได้ตำแหน่ง ส.ส.ในสภา จำนวน 376 ที่นั่ง แม้ในช่วงนั้น ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีเรื่องการคอรัปชัน และการซื้อเสียง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กลับได้เพียง 96 ที่นั่ง โดยคะแนนเสียงหลักของพรรคไทยรักไทย มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยใน กทม. พรรคไทยรักไทย ได้ถึง 32 ที่นั่ง จาก 37 เขตเลือกตั้ง จากนโยบายเมกะโปรเจกต์ สร้างรถไฟฟ้า 7 สาย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเพียง 4 ที่นั่ง ในส่วนภาคใต้ ซึ่งประชาชนมีความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น โดย พรรคไทยรักไทยได้มาเพียง 1 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 1 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ถึง 52 ที่นั่ง
จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยที่สองนี้ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชนทั่วทุกภาค ทั้งในเมืองและชนบท จึงเป็นรัฐบาลชุดแรก ในประวัติศาสตร์ไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มาจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้การเมืองไทย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเข้าสู่ระบบสองพรรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น