ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

“เอนก” ที่มีรากเหง้า-เนื้อในจากพรรคประชาธิปัตย์


มีการปล่อยข่าวเพื่อหาข่าวจากอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย เปิดทางให้ “ขุนพล” จากพรรค การเมืองอื่นไหลลื่นเข้าสังกัดตามเกมเก่า
เป็นการปล่อยข่าวเพื่อ “ทุบหุ้น” ที่มีอนาคตบนกระดานที่ชื่อ “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์”
เป็น “เอนก” ที่มีรากเหง้า-เนื้อในจากพรรคประชาธิปัตย์ผ่านไปแตกกอในพรรคมหาชน และเคยต่อยอดให้กับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และแต่งกิ่งในนามกลุ่มการเมืองหัวกะทิ “กลุ่มรักษ์ไทย”
เมื่อห่างหายจากวงการเมือง “เอนก” ไปต่อยอดในวงวิชาการ ผลิตงานใน “เนื้อเดิม” อันเป็นจุดก่อเกิดก่อนมา งอกเมล็ดงามในพรรคการเมือง
ทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับ “ประชานิยม” หรือ “อภิวัฒน์ท้องถิ่น” อันเป็นการสำรวจทฤษฎีการเมืองเพื่อสร้างท้องถิ่นให้เป็นฐานใหม่ของ ประชาธิปไตย
และผลิตงานวิชาการต่อยอดจากประสบการณ์ตรงจากวงการเมือง ในเนื้อหาที่ว่าด้วย “แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน สร้างการปกครองท้องถิ่น ให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย”
กลับจากเวทีปราศรัยหาเสียงในฐานะ “หัวหน้าพรรค” ไปเป็นนักวิชาการสาธารณะ “เอนก” ขึ้นเวทีวิชาการ กล่าวถึง “โอกาสของท้องถิ่น วาระการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ”
ระหว่างที่ผลิตผลงานวิชาการ “เอนก” เดินสายพบปะผู้คน-ค้นคว้า ความจริงและข้อมูลประกอบการอภิปราย จึงได้ปฏิสัมพันธ์กับคนการเมืองหลายสาย-หลายขั้ว
ชื่อ “เอนก” จึงถูกดึงไปพัวพันทั้งกับ “พรรคการเมืองใหม่” และ “ข่าว” ล่าสุดมีคนวงใน “พรรคเพื่อไทย” เปิดทางไว้ว่า เขาจะเข้าไปเป็น “ที่ปรึกษา” ของ “ประธานที่ปรึกษา”
คนแวดวงการเมืองจึงสนใจไถ่ถาม ความจริงจากปากของ “เอนก”
เขาบอกว่า “เขียนไว้ได้เลย ขีดเส้นใต้ไว้ได้เลยว่า ณ ปลายฝนต้นหนาวของปี 2552 นี้ ไม่มีชื่อ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ใน พรรคเพื่อไทยเป็นแน่แท้ แต่ฤดูร้อนปีหน้าค่อยมาว่ากันอีกที”
“เอนก” เป็นที่สนใจของทุกพรรค ทุก “หัว” แม้กระทั่ง “นายหัว” ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาใหญ่แห่งค่ายพรรค ประชาธิปัตย์ ยังไถ่ถาม-ชักชวนให้คืนรัง ดังเดิม
ส่วนความสัมพันธ์อันดีเมื่อครั้งอดีตกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ย้ายสังกัดไปประกบอยู่กับ “บรรหาร ศิลปอาชา” แห่งค่ายชาติไทยพัฒนา ณ วันนี้ก็ยังแนบแน่นเช่นเดิม
เช่นเดียวกับ “คอนเน็กชั่นพิเศษ” กับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ผู้มากบารมีที่ยังคงมี “เอนก” เป็นแขกประจำในมื้อค่ำ ไม่สร่างซา-ห่างหาย
ถามว่า “อาจารย์เอนก” สนใจร่วมหอลงโรง ร่วมหัวจมท้าย กับพรรคไหน และจะกลับจากเวทีวิชาการเข้าสู่วงจรการเมืองอีกหรือไม่
คำตอบคือ “ผมสนใจการคุยกับทุกพรรค ทุกฝ่าย เพื่อให้ก่อเกิดนวัตกรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ”
“ตอนนี้กำลังหาทางออกด้วยการทำวิจัย เขียนหนังสือชื่อ จุดคานงัดนำสังคมไทยพ้นวิกฤต ไม่มีอะไรเป็นเรื่องฝัก-ฝ่าย” ในฐานะอาจารย์เขาคร่ำเคร่งทำวิจัย-จัดวงเสวนา-ทำโฟกัสกรุ๊ป และชักชวนทุกขั้ว- ทุกฝ่ายมาร่วมวง
เป็นงานวิจัยที่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่บนหิ้ง ทิ้งไว้บนหอคอยงาช้าง แต่กำลังนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวงวรรณกรรม-วิชาการ โดยสำนักพิมพ์ “มติชน” เร็ว ๆ นี้
ประเด็นที่ผู้คนสนใจไถ่ถาม “เอนก” มากไม่แพ้การเลือกฝ่าย คือ พบปะ-คบหากับ “บิ๊กจิ๋ว” ใกล้ชิดขนาดไหน คำตอบที่ได้ คือ เป็นการพูดคุยเรื่องพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น
เขาบอกว่า การคบหา-กินข้าวคาว-หวานกับนายกรัฐมนตรี-อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นมีตลอดทุกยุคทุกสมัย
“จริง ๆ แล้วผมก็คุยกับคนได้หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล กับนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมก็เคยพบรับประทานอาหารด้วยกัน เช่นเดียวกับอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ก็พบปะกัน แม้กระทั่งท่านอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ก็เคยคบหาร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน”
“แต่คนการเมืองที่พบปะกับผมมากที่สุด ไปเที่ยวกันบ่อยที่สุดชื่อ สุริยะใส กตะศิลา…ในฐานะลูกศิษย์-ลูกหา” อาจารย์เอนก เล่ารายละเอียดเส้นทางคน-เส้นทางการเมือง
เมื่อ “บิ๊กจิ๋ว” จุดพลุ “นครรัฐปัตตานี- นครปัตตานี” ดังสนั่น-สว่างไสวไปทั่วกระดานการเมือง ในฐานะที่เป็นกูรู-รัฐศาสตร์ “เอนก” อธิบายปรากฏการณ์
“การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้แพ็กเกจใหญ่ ใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งไม่ได้ การพูดถึง “นคร” รูปแบบการปกครองพิเศษ ก็เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจใหญ่ ซึ่งมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า หากพื้นที่ใดมีความพร้อม มีเจตนาอยากปกครองรูปแบบพิเศษ ก็สามารถทำได้โดยให้อยู่ในกฎหมาย”
“ในยุครัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าฯ มีพระราชดำริจะนำเอาพื้นที่ชะอำ หัวหิน เป็นเขตปกครองพิเศษ เป็นเขตรักษาชายฝั่งทะเลตะวันตก แต่ก็ยังไม่ทันได้ทำสำเร็จก็เกิดเหตุการณ์ 2475 เสียก่อน” อาจารย์เอนกย้อนความ
“ส่วนข้อเสนอที่จะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพิเศษ โดยอยู่ในวัฒนธรรมแบบมุสลิมในแบบไทย ซึ่งมีเชื้อสายมาจากมาเลเซียที่มีการนับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด”
“การจัดเขตปกครองพิเศษ จะทำให้เขาได้ปกครอง-แก้ปัญหาของตัวเองได้มากขึ้น”
ข้อย้อน-แย้งที่พลพรรคประชาธิปัตย์รุมโต้-ต้าน ภายใต้หลักคิด-กรอบองค์กร “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้” โดยเรียกชื่อดั้งเดิมยุคสมัย “ชวน หลีกภัย” ที่เรียกชื่อย่อว่า ศอบต. ถูก “ดร.เอนก” วิพากษ์
ด้วยการหยิบยกโครงสร้างอำนาจมาวาดเค้า-วางเรื่อง-เห็นภาพว่า “การตั้งเขตการปกครองพิเศษ โดยมีศูนย์ ศอบต.เป็น ผู้บริหารพื้นที่นั้น เป็นการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางยิ่งกว่ารวมศูนย์เสียอีก เพราะเป็นการใช้ผู้บริหารส่วนกลางเข้าไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลางสำนักนายก รัฐมนตรีในการแก้ปัญหาท้องถิ่น”
“ที่ผ่านมารัฐไทยได้พยายามแก้ปัญหาโดยส่วนกลางจนหมดเงิน หมดทรัพยากร หมดสติปัญญาไปเป็นจำนวนมาก ก็แก้ปัญหาไปได้ไม่มากเท่าไร ยามนี้หากใครคิดที่จะใช้ท้องถิ่นแก้ปัญหาท้องถิ่น ก็ถือว่าเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง”
ในฐานะเจ้าความคิดเรื่องการกระจายอำนาจที่ยึดทางออกด้วย “ท้องถิ่น” จึงเห็นว่า การกระจายอำนาจเป็นเรื่องของทุกจังหวัด ทุกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องใส่ใจ ไม่ใช่เฉพาะเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
เขาเห็นว่า “องค์การบริหารส่วนจังหวัดในภาคอีสาน ก็ควรมีโอกาสได้ปกครองแบบพิเศษ แบบพื้นเพภาคอีสาน”
อาจารย์เอนก ย้อนตำนานพรรค ประชาธิปัตย์ กับแนวคิดกระจายอำนาจว่า สมัยที่ “อภิสิทธิ์” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำกับนโยบายการกระจายอำนาจ แต่ก็ยังไม่เกิดผล ดังนั้น หากจะ “คิดริเริ่ม” ตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังสามารถทำได้
ข้อคิดเห็น ทิ้งทาย ท้าทาย ทั้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์
“การแก้ปัญหาที่ยุ่งยาก นอกจากจะทุ่มเทแรงกายแรงใจแล้วต้องมองหา นวัตกรรมทางความคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาด้วย ปัญหาชายแดนใต้ โดยหลักต้องแก้ด้วยการเมือง”

ที่มา : http://www.wiseknow.com/blog/2009/11/09/3887/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น